วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เครื่องประดับ ที่พบ มีชื่อเรียกตามคำบอกเล่า คือ

จากคำบอกเล่าของ นายปัญญา แก้วพร้อมเลิศ ผู้สนใจและหลงใหลในความงามของลูกปัด กล่าวว่าลูกปัดเหล่านี้จะสะท้อนแสง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปบริเวณผิวดินและบริเวณที่ขุดพบโครงกระดูกโบราณบ้านโคกพริก ซึ่งตนได้เก็บรักษาไว้เป็นเครื่องประดับและมีความเชื่อในเรื่องโชคลาภและเครื่องรางป้องกันตัว ลูกปัดที่ขุดพบบริเวณบ้านโคกพริก ลูกปัดสมัยทวาราวดี ลูกปัดเป็นของเก่า สมัยโบราณใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อคุ้มครองป้องกันรักษาภัยอันตราย มีโชคลาภและเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเรียกต่างๆกันดังนี้
๑. ทวาราวดี ดีที่สุดเป็นของหายาก
๒. หยกเขียว กันอุบัติเหตุ กันผี มีความสุข มีราศี
๓. น้ำเงินแก่ – อ่อน เนื้อกษัตริย์ มีอำนาจ วาสนาสูง
๔. หยกเหลือง มีเสน่ห์ ผู้ใดพบรักใคร่ชอบพอ
๕. ฟ้าแก่ – ฟ้าอ่อน รวย แจ่ม สดใส
๖. สแลน กันอุบัติเหตุ ป้องกันสามีเจ้าชู้
๗. หยกขาว ไม่แก่ มีสง่า
๘. หยกดำ กันอุบัติเหตุ กันผีสาง
๙. แก้วใสสารพัดนึก กันโรคภัยไข้เจ็บ หมากัดไม่เข้า
๑๐. อำพันทอง แก้โรคนิ่ว ป้องกันสามีเจ้าชู้
๑๑. ส้ม อยู่ยงคงกระพัน สำรวย
๑๒. สีม่วง มีเมตตา มหานิยมดี
๑๓. ทับทิม มีเสน่ห์ ได้ยศถาบรรดาศักดิ์
๑๔. อิฐแดง – มันปู อยู่ยงคงกระพัน ป้องกันเขี้ยวงา
๑๕. นานาชาติตาทิพย์ ของภาคใต้สูงที่สุด ครอบจักรวาล หายากยิ่ง

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ความเป็นมาของลูกปัดโคกพริก ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี

ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถิน ได้ประสานให้สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๑ ราชบุรี ตรวจสอบบริเวณที่พบโครงกระดูกหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถิน จากการวิเคราะห์โบราณวัตถุที่พบประกอบข้อมูลทางด้านโบราณคดีอื่นๆทำให้ทราบว่าโครงกระดูกที่ขุดพบมีอายุในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ ๒,๐๐๐ปี ซึ่งการขุดพบโครงกระดูกโบราณครั้งนี้ได้มีการขุดพบวัตถุอย่างอื่นที่อยู่บริเวณศพด้วย ประกอบด้วย เศษภาชนะดินเผา แบบเนื้อดิน ( carthenware) ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีทั้งผิวเรียบและตกแต่งลวดลายส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายกดประทับเป็นลายเชือกทาบและลายขูดขีด โบราณวัตถุประเภทดินเผาอื่นๆ ที่พบได้แก่ แวดินเผา มีลักษณะรูปทรงกลมแบนและทรงกรวยนูนข้างด้านใดด้านหนึ่ง มีขนาดต่างๆเจาะเป็นรูตรงกลางนอกจากนั้นยังมีพวกลูกกระสุนดินเผา กระดูกสัตว์ ประเภทต่างๆ เช่น วัวควาย หมู พบชิ้นส่วนกระดูกข้อต่อ กระดูกสันหลัง พวกฟันสัตว์ นอกจากนั้นยังพบเปลือกหอยแครงรวมอยู่ด้วยเครื่องประดับ ประเภทกำไลเปลือกหอย ลูกปัดทำจากหินสี ลูกปัดแก้วสีต่างๆและลูกปัดจากกระดูกสันหลังปลา โดยการนำมาฝนให้ได้รูปและเจาะเป็นรูตรงกลาง ลูกปัดหลากสีของบ้านโคกพริก ตำบลคุ้งกระถิน จำนวนมากมาย ที่บรรจุอยู่ในหม้อ ไห และสวมใส่บนร่างกายของโครงกระดูกที่ฝังรวมกัน ลูกปัดที่ขุดพบส่วนใหญ่ทำจาก กระดูกสัตว์ ยางไม้ แก้ว ดินเผา เปลือกหอย หินสี ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นได้ขุดพบได้ในช่วงที่ฝนตกหนัก