วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เครื่องประดับ ที่พบ มีชื่อเรียกตามคำบอกเล่า คือ

จากคำบอกเล่าของ นายปัญญา แก้วพร้อมเลิศ ผู้สนใจและหลงใหลในความงามของลูกปัด กล่าวว่าลูกปัดเหล่านี้จะสะท้อนแสง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปบริเวณผิวดินและบริเวณที่ขุดพบโครงกระดูกโบราณบ้านโคกพริก ซึ่งตนได้เก็บรักษาไว้เป็นเครื่องประดับและมีความเชื่อในเรื่องโชคลาภและเครื่องรางป้องกันตัว ลูกปัดที่ขุดพบบริเวณบ้านโคกพริก ลูกปัดสมัยทวาราวดี ลูกปัดเป็นของเก่า สมัยโบราณใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อคุ้มครองป้องกันรักษาภัยอันตราย มีโชคลาภและเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเรียกต่างๆกันดังนี้
๑. ทวาราวดี ดีที่สุดเป็นของหายาก
๒. หยกเขียว กันอุบัติเหตุ กันผี มีความสุข มีราศี
๓. น้ำเงินแก่ – อ่อน เนื้อกษัตริย์ มีอำนาจ วาสนาสูง
๔. หยกเหลือง มีเสน่ห์ ผู้ใดพบรักใคร่ชอบพอ
๕. ฟ้าแก่ – ฟ้าอ่อน รวย แจ่ม สดใส
๖. สแลน กันอุบัติเหตุ ป้องกันสามีเจ้าชู้
๗. หยกขาว ไม่แก่ มีสง่า
๘. หยกดำ กันอุบัติเหตุ กันผีสาง
๙. แก้วใสสารพัดนึก กันโรคภัยไข้เจ็บ หมากัดไม่เข้า
๑๐. อำพันทอง แก้โรคนิ่ว ป้องกันสามีเจ้าชู้
๑๑. ส้ม อยู่ยงคงกระพัน สำรวย
๑๒. สีม่วง มีเมตตา มหานิยมดี
๑๓. ทับทิม มีเสน่ห์ ได้ยศถาบรรดาศักดิ์
๑๔. อิฐแดง – มันปู อยู่ยงคงกระพัน ป้องกันเขี้ยวงา
๑๕. นานาชาติตาทิพย์ ของภาคใต้สูงที่สุด ครอบจักรวาล หายากยิ่ง

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ความเป็นมาของลูกปัดโคกพริก ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี

ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถิน ได้ประสานให้สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๑ ราชบุรี ตรวจสอบบริเวณที่พบโครงกระดูกหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถิน จากการวิเคราะห์โบราณวัตถุที่พบประกอบข้อมูลทางด้านโบราณคดีอื่นๆทำให้ทราบว่าโครงกระดูกที่ขุดพบมีอายุในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ ๒,๐๐๐ปี ซึ่งการขุดพบโครงกระดูกโบราณครั้งนี้ได้มีการขุดพบวัตถุอย่างอื่นที่อยู่บริเวณศพด้วย ประกอบด้วย เศษภาชนะดินเผา แบบเนื้อดิน ( carthenware) ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีทั้งผิวเรียบและตกแต่งลวดลายส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายกดประทับเป็นลายเชือกทาบและลายขูดขีด โบราณวัตถุประเภทดินเผาอื่นๆ ที่พบได้แก่ แวดินเผา มีลักษณะรูปทรงกลมแบนและทรงกรวยนูนข้างด้านใดด้านหนึ่ง มีขนาดต่างๆเจาะเป็นรูตรงกลางนอกจากนั้นยังมีพวกลูกกระสุนดินเผา กระดูกสัตว์ ประเภทต่างๆ เช่น วัวควาย หมู พบชิ้นส่วนกระดูกข้อต่อ กระดูกสันหลัง พวกฟันสัตว์ นอกจากนั้นยังพบเปลือกหอยแครงรวมอยู่ด้วยเครื่องประดับ ประเภทกำไลเปลือกหอย ลูกปัดทำจากหินสี ลูกปัดแก้วสีต่างๆและลูกปัดจากกระดูกสันหลังปลา โดยการนำมาฝนให้ได้รูปและเจาะเป็นรูตรงกลาง ลูกปัดหลากสีของบ้านโคกพริก ตำบลคุ้งกระถิน จำนวนมากมาย ที่บรรจุอยู่ในหม้อ ไห และสวมใส่บนร่างกายของโครงกระดูกที่ฝังรวมกัน ลูกปัดที่ขุดพบส่วนใหญ่ทำจาก กระดูกสัตว์ ยางไม้ แก้ว ดินเผา เปลือกหอย หินสี ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นได้ขุดพบได้ในช่วงที่ฝนตกหนัก

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เทคนิคการทำลูกปัดแก้วในสมัยโบราณ


1.วิธีพัน การทำลูกปัดวิธีพัน ทำโดยการนำแท่งแก้วมาลนไฟที่ส่วนปลายจนเหลวตัวแล้วนำไปพันรอบแกนเส้นโลหะเหล็กหรือทองแดง เมื่อพันรอบแล้วก็ตัดส่วนที่เกินออกแล้วนำแกนเส้นลวดที่พันแก้วทับอยู่ไปลนไฟอีกทีโดยหมุนไปรอบๆจนกว่าผิวแก้วที่เป็นรอบต่อนั้นจะเสมอกัน ซึ่งในเส้นลวดเส้นหนึ่งอาจจะนำแก้วเหลวมาพันรอบๆหลายๆลูกก็ได้ หลังจากนำไปลนไฟจนได้ที่แล้วก็นำมาปล่อยวาให้เย็น แกนเส้นลวดก็จะหดตัวมากกว่าตัวแก้ว ซึ่งจะทำให้ลูกปัดที่ติดอยู่ออกง่าย และลูกปัดก็จะมีความกว้างเท่ากับแกนเส้นลวดนั้นๆ 2. วิธียืด การทำลูกปัดแก้วแบบยืด ทำโดยการนำก้อนแก้วที่เข้าเผาจนร้อนแดงออกมาโดยใช้แท่งเหล็กจิ้มออกมา จากนั้นนำแท่งเหล็กอีกแท่งหนึ่งมาจิ้มที่ก้นแก้วจนร้อนนั้นแล้วจึงตัดก้อนแก้วนั้นให้เป็นรูปกรวยหรือพันให้เป็นรูปกลม โดยให้มีช่องที่ติดฟองอากาศขนาดใหญ่อยู่ภายใน ยืดก้อนแก้วออกเป็นหลอดยาว แล้วตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆตามต้องการโดยไม่ต้องเจาะรู เพราะช่องฟองอากาศก็เป็นรูลูกปัดอยู่แล้ว และปล่อยให้เย็น ลูกปัดก็จะแข็งตัวขึ้น ที่ขอบรอบรูลูกปัดยังมีความคมอยู่ก็ปัดให้ลบคม การขัดขอบรอบรูลูกปัดด้วยวิธีง่ายๆและรวดเร็วคือ การนำลูกปัดจำนวนมากใส่ลงในถังกลมที่ผสมทรายหยาบ แล้วหมุนถังไปรอบๆเพื่อให้ตัวเม็ดทรายทำหน้าที่ขัดผิวแก้ว ที่คมของลูกปัดให้เสมอกัน แต่ถ้าหมุนถังนานๆก็อาจจะทำให้รูปร่างของลูกปัดเปลี่ยนแปลงไปได้ กรรมวิธีทำลูกปัดแบบยืดนี้อาจเพิ่มเติมสีสันลวดลายได้คือ นำเส้นแก้วที่ยังอ่อนตัวจากความร้อนมาวาทาบบนก้อนแก้ว โดยวางสลับสีกันแล้วยืดออก ก็จะได้หลอดแก้วที่มีลายเป็นเส้นยาวตามสีที่วางไว้ ลูกปัดที่สลับสีแบบนี้เรียกว่า Striped Bead แต่ถ้าหากนำมาพันทับกันเป็นชั้นๆ เช่น ทาบกัน 5 ชั้นหรือ 6 ชั้น ชั้นละสี เมื่อยืดออกแล้วนำไปตัดก็จะได้ ลูกปัดที่มีสีสลับกันเรียกว่า โรเซทท์ (Rosette) 3. วิธีพับ การทำลูกปัดแก้วแบบนี้ ทำโดยการนำแท่งแก้วที่ยาวและแบนมาลนไฟให้อ่อนตัว แล้วนำมาพันรอบแกนเส้นลวดเหมือนกันกับแบบพัน โดยจะเห็นรอยต่อตรงที่พับชนกันจะเป็นเส้นขนานกับรูลูกปัด ลูกปัดแบบพับนี้จะพบที่ประเทศอียิปต์และประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นลูกปัดเมื่อราว 2,000ปีมาแล้ว 4. วิธีกด การทำลูกปัดแก้วแบบนี้ ทำได้ในขณะที่แก้วยังอ่อนตัว ซึ่งสามารถทำลูกปัดรูปร่างต่างๆได้ทั้ง สี่เหลี่ยม กลม กลมแบน แบนขอบหยัก หกเหลี่ยม หรือ แปดเหลี่ยมเป็นต้น 5. วิธีขดให้เป็นเกลียว วิธีนี้พบครั้งแรกเนแบบของอียิปต์โบราณและของโรมัน โดยนำแท่งแก้วที่กำลังอ่อนตัวมาพันรอบๆแกนเส้นลวด โดยขอให้เป็นเกลี่ยวแล้วตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆ 6. วิธีหยอดและใช้มือเจาะรู การทำวิธีนี้ ทำโดยหยอดแก้วหลอมจากแท่งแก้วลงบนจานดินเผาเป็นเม็ดๆ แล้วใช้ตะปู ลวด หรือของแหลม เจาะรูลงไปในขณะที่หยอดแก้วยังอ่อนตัวอยู่ ซึ่งจะพบมากในอินเดีย 7. วิธีอบ วิธีนี้ทำโดยเอาแก้วสีมาบดให้เป็นผง อาจจะใช้ขวดแก้วสีต่างๆที่แตกแล้วมาบดก็ได้ วิธีทำคล้ายการทำลูกปัด Faience ของอียิปต์โบราณ โดยการนำเอาแท่งไม้ที่มีความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 กระเบียด เจาะรูเข้าไปในก้อนดินเหนียวประมาณครึ่งนิ้วแล้วนำกิ่งไม้ขนาดเท่าก้านไม้ขีดกดลงไปตรงกลางของรูที่เจาะครั้งแรก แล้วเทผงแก้วสีต่างๆลงไปในรู สลับสีตามความต้องการ จากนั้นนำเอาก้อนดินเหนียวไปอบในกลางแจ้ง จะทำให้ผงแก้วละลาย และปล่อยทิ้งไว้ให้แก้วเย็นและแข็งตัว ก้านไม้ตรงกลางจะหลุดออกเป็นรูลูกปัด

วัตถุดิบที่ใช้ทำลูกปัดโบราณ

1. กระดูก เปลือกหอย ซึ่งรวมทั้ง เขา งา ปะการัง เขี้ยว และฟัน เปลือกหอย จัดได้ว่าจัดได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่เก่าแก่ ซึ่งคนภาคใต้ในสมัยโบราณรู้จักนำมาทำเป็นเครื่องประดับและลูกปัด โดยนำเปลือกหอยมาขัดฝน เจาะรู เพื่อใช้ร้อยประดับ พบในแหล่งโบราณคดีเช่น ถ้ำเขาหินตก ถ้ำสุวรรณคูหา ถ้ำปากอม และถ้ำเบื้องแบบส่วนกระดูก ฟัน เขี้ยว และเขาสัตว์ มีการพบร่องรอยการขัดฝนทำเป็นเครื่องประดับในรูปของจี้ ห้อยแขวน หรือลูกปัดทรงกระบอก ที่พบหลักฐานในแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณพุนพิน (เขาศรีวิชัย) เครื่องประดับที่ทำด้วยงาช้างพบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม ปะการังพบที่ชุมชนโบราณสทิงพระ โดยนำมาตัดเป็นแท่งๆ แต่ยังไม่พบหลักฐานการนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
2. หิน-แร่ประกอบหิน ตามหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ พบว่ามีการใช้หินเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องประดับ มี 2 รูปแบบคือ นำมาขัดฝนเป็นกำไล และเม็ดลูกปัด หินที่ใช้ทำมักจะเป็นหินสีเทาดำที่ง่ายต่อการขัดฝน เช่น หินแอนดิไซด์ หินชนวน หินดินดาน และ แร่ประกอบหินตระกูลควอตซ์ สีขาวขุ่น รวมทั้งอำพัน และชาร์ต เมื่อมาถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีแร่ประกอบหินที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบอีกหลายชนิด เช่น พลอย ทับทิม อำพัน แก้วตาแมว ที่มีในชุมชน ส่วนหินคาร์เนเลี่ยนและควอตซ์แก้วผลึก เป็นวัตถุดิบที่นำมาจากดินแดนอื่นเช่นอินเดีย ยังมีหิน-แร่ประกิบหินเช่นพวกพลอยม่วงหรืออะเมทิสต์ ควอตซ์ที่มีลายในเนื้อ เช่น อะเกตหรือโอนิกซ์แร่ประกอบหินสีเขียว เช่น เพรส เนไฟรต์ เซอร์เพนทีน ควอตซ์สีน้ำผึ้ง เช่น ซิทรีน ควอตซ์เนื้อละเอียด แจสเพอร์เนื้อสีแดง โอปอเนื้อวาวแบบเทียนไข หรือยางสน และออบซิเดี่ยน คล้ายแก้วสีดำ วัตถุดิบที่เป็นหิน-แร่ประกอบหิน ใช้ทำเครื่องประดับในสมัยแรกเริ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น กำไล หัวแหวน ตุ้มหู แหวน หรือ จี้สำหรับห้อยคอ แต่ที่พบมากที่สุด คือ ลูกปัด
3. ดินเผา – แก้วหลอม ดินเผาที่ใช้ทำเครื่องประดับของคนโบราณในภาคใต้ พบหลักฐานน้อยมาก ส่วนใหญ่ จะพบเป๋นวุตถุขนาดเล็กๆ เช่น ลูกกระสุน แว และ ตุ้มถ่วงแห เป็นส่วนมาก มักจะเป็นดินเนื้อละเอียดและเผาแกร่ง ส่วนลูกปัดแก้วหลอม ทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบ กำไล ตุ้มหู แหวน หัวแหวน จี้ และลูกปัด สามารถทำลูกปัดให้มีสีและลวดลายต่างๆคล้ายเนื้อหิน และลวดลายใหม่ๆขึ้นอีกด้วย
4. โลหะหลอม เครื่องประดับที่ทำจากโลหะหลอมทำมาจาก ทอง ทองแดง เงิน ตะกั่ว ดีบุก เหล็กรวมถึงโลหะผสมอีกชนิดหนึ่งคือ สำริด ลูกปัดที่ทำจากทอง พบในหลายแหล่งโบราณในภาคใต้ เช่น แหล่งชุมชนโบราณคลองท่อม,แหล่งชุมชนโบราณท่าชนะ,แหล่งชุมชนโบราณสามแก้ว,แหล่งชุมชนตะกั่วป่า แหล่งชุมชนโบราณไชยาฯลฯ เครื่องประดับทำด้วยทองที่พบอยู่ในรูปแบบของแหวน จี้ ตุ้มหู และ เม็ดลูกปัด ส่วนเงินพบน้อยมาก ตะกั่วและสำริด เป็นโลหะที่นิยมมาทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบของตุ้มหู แหวน ลูกปัด และ ลูกกระพรวน นอกจากนี้ยังพบแม่พิมพ์หินทราย สำหรับหล่อตุ้มหูสำริดด้วย ส่วนเหล็กที่ทำเป็นเครื่องประดับพบจากแหล่งชุมชนโบราณท่าเรือเรียกว่า ลูกปัดฮีมาไทต์รูปทรงกระบอก

การใช้สอยลูกปัด ในสมัยโบราณ

1. ใช้เป็นเครื่องประดับ โดยร้อยเชือกหรือว้สดุอื่นๆ ร้อบเป็นพวงติดกันผูกไว้ที่ข้อมือ เป็นสายพันรอบเอว และร้อยคล้องคอ เจาะติดจมูก ใส่เป็นต่างหู พันไว้รอบศีรษะ ร้อยไว้รอบผม แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น และบางครั้งใช้เป็นเครื่องบอกฐานะทางสังคม
2. ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง บางครั้งใช้ประกอบพิธีกรรมเพราะในความหมายของคำว่า ลูกปัดในภาษาไทยอาจหมายถึง ปัดรังควาน หรือ ปัดเสนียด จัญไร หรือสิ่งชั่วร้าย เมื่อเทียบกับความหมายในภาษาอังกฤษ คำว่า BEAD มาจากคำว่า BEDE ในสมัยกลางแปลว่า การสวดมนต์ ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับพิธีกรรมนั้นเอง
3. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาโรคบางอย่างได้ ในทวีปยุโรป เชื่อกันว่าลูดปัดช่วยถนอม สายตา ลูกปัดอำพันใช้แก้โรคปวดท้องได้
4.ใช้แทนเงินตรา ในการแลกเปลี่ยนทางการค้าเพราะลูกปัดมีขนาดที่เหมาะสม ง่ายต่อ การนำติดตังไปยังที่ต่างๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าในทวีปเอเซีย ยุโรป และแอฟริกา พบลูกปัดจำนวนมากอยู่ร่วมกับสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์เริ่มมีความสัมพันธ์ทางการค้า

ความหมาย ของคำว่า ลูกปัด

ลูกปัด ในความหมายทางโบราณคดี หมายถึง วัตถุต่างๆที่เจาะรู สามารถนำมาร้อยได้ เช่น ลูกปัดหิน ลูกปัดดิน ลูกปัดแก้ว ลูกปัดที่ทำมาจากกระดูก เปลือกหอย หรือ ลูกปัดที่ทำมาจากโลหะอื่นๆเช่น ทอง ดีบุก สัมฤทธิ์ เป็นต้น